ผู้ถือหุ้นยื่นปลด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พ้น CEO เฟซบุ๊ก เซ่นปมปัญหาฉาว

          ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ เฟซบุ๊ก (Facebook) ยื่นหนังสือปลด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พ้นตำแหน่งประธานบริหารเฟซบุ๊ก หลังมีข่าวต่อเนื่อง ทั้งปัญหาข้อมูลผู้ใช้ ไปจนถึงประเด็นทางการเมือง กรมบัญชีกลาง เผย เฟซบุ๊กจะก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ต่อเมื่อตำแหน่งประธานบริหารเป็นอิสระ

ภาพจาก ALEX WONG / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP

          เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า สถานการณ์ภายในของ เฟซบุ๊ก (Facebook) ในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างระส่ำระสาย และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอนาคต โดยเหล่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต้องการปลด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ออกจากเก้าอี้ผู้มีอำนาจสูงสุดของเฟซบุ๊ก เนื่องจากกระแสข่าวฉาวและปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องปัญหาข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ของจีน รวมทั้งเรื่องประเด็นทางการเมือง ที่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเฟซบุ๊กมีเอี่ยวด้าน "โฆษณาชวนเชื่อ" ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559

          เฟซบุ๊กเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการบริหารจัดการภายในไม่ต่างกับประเทศที่มีเผด็จการเป็นผู้นำ เนื่องจากอำนาจส่วนใหญ่อยู่ในมือของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่เพียงผู้เดียว โดยก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2561 สมาชิกกองกิจการการเกษียณอายุราชการครู ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาให้ความเห็นกับ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า เฟซบุ๊กได้เติบโตขึ้นมากอย่างเหลือเชื่อ ระบบอะไรต่าง ๆ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรื่องการเงินการลงทุนก็เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นมันก็ถึงเวลาแล้ว ที่เฟซบุ๊กจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเสียใหม่

          ผู้ถือหุ้นรายนี้ยังตั้งข้อสันนิษฐานอีกว่า การที่ ซัคเคอร์เบิร์ก อยากกุมอำนาจการบริหารเอาไว้ น่าจะเพราะว่าเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งถ้ามันเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ ความฝันแบบอเมริกันในตอนนี้ ก็เผด็จการดี ๆ นี่เอง


ภาพจาก PK Studio / Shutterstock.com

          รายงานระบุว่า ผู้ที่ยื่นหนังสือขอปลด ซัคเคอร์เบิร์ก ลงจากตำแหน่งประธานบริหารของเฟซบุ๊ก คือ กองบริการการเงินและการลงทุนของมหานครนิวยอร์ก ร่วมกับบริษัทจัดการอสังหาริมทรัพย์ ทริลลัม (Trillium Asset Management) และนักลงทุนและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเฟซบุ๊ก (ไม่เปิดเผยนาม) จากรัฐอิลลินอยส์ เพนซิลเวเนีย และโรดไอส์แลนด์ โดยเหล่าผู้ถือหุ้นกล่าวว่า แนวทางการบริหารในปัจจุบัน ได้ทำให้สถานะของเฟซบุ๊กและนักลงทุนอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นเฟซบุ๊กจึงควรปรับตัวให้มีแนวทางเหมือน ๆ กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลาย ๆ แห่ง เช่น แอปเปิล (Apple) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ กูเกิล (Google) ที่ตำแหน่งประธานบริษัท กับประธานบริหาร แยกเป็นอิสระจากกัน

          "ในปัจจุบัน เฟซบุ๊กได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างมาก ทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจ พวกเขามีความรับผิดชอบทางสังคมและมีการเงินที่โปร่งใส นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่เราต้องการเรียกร้องให้บอร์ดบริหารของเฟซบุ๊กมีความเป็นอิสระและมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ เมื่อบอร์ดบริหารเป็นอิสระแล้ว มันจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เฟซบุ๊กรอดจากความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้น และมันจะเป็นการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้คนให้กลับมาอีกครั้ง และจะทำให้ความน่าเชื่อถือในหมู่นักลงทุน กลับมาด้วยเช่นกัน" สก็อตต์ สตริงเจอร์ ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง กล่าว

          ทั้งนี้หนังสือแสดงเจตจํานงเรื่องการปลด ซัคเคอร์เบิร์ก จะถูกนำขึ้นมาหารือและตัดสินใจอีกครั้ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ประจำปีของเฟซบุ๊ก ในปี 2562 ซึ่งไม่ว่าผลการโหวตจะออกมาเป็นอย่างไร มันก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในอย่างแน่นอน และมันยังเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงซัคเคอร์เบิร์ก ด้วยว่า อำนาจของเขา มันเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือบอร์ดบริหารแล้ว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ถือหุ้นยื่นปลด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก พ้น CEO เฟซบุ๊ก เซ่นปมปัญหาฉาว อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2561 เวลา 17:56:19 55,822 อ่าน
TOP